Skip links

มาทำความรู้จัก “ภาษีธุรกิจเฉพาะ” ให้มากยิ่งขึ้น

ภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นภาษีอีกประเภทหนึ่งที่กรมสรรพากรเรียกเก็บจากผู้ประกอบธุรกิจ แต่ใครหลายๆ คนอาจจะยังไม่ค่อยคุ้นชินกับภาษีประเภทนี้มากนัก เพราะเป็นภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจแค่บางประเภทเท่านั้น วันนี้ Accounting Journey จะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับภาษีธุรกิจเฉพาะให้มากยิ่งขึ้น ว่าภาษีธุรกิจเฉพาะคืออะไร ธุรกิจใดบ้างที่เกี่ยวข้องและต้องเป็นผู้ที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะอย่างไร และเสียภาษีธุรกิจเฉพาะเมื่อใด เป็นต้น

ภาษีธุรกิจเฉพาะ (Specific Business Tax: SBT) คืออะไร

ภาษีธุรกิจเฉพาะ คือ ภาษีตามประมวลรัษฎากรประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นภาษีที่กรมสรรพากรจัดเก็บกับธุรกิจเฉพาะบางธุรกิจเท่านั้น โดยธุรกิจเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้ว หากเข้าข่ายที่จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะแล้ว จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

ผู้ที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะมีใครบ้าง

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ได้แก่ ผู้ที่ประกอบกิจการไม่ว่าจะประกอบในรูปแบบของบุคคลธรรมมดา นิติบุคคล กองมรดก หรือกองทุน เป็นต้น และประกอบกิจการในประเภทดังต่อไปนี้ จะเข้าข่ายเป็นผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจพาะ เช่น

  • การธนาคาร ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์หรือกฎหมายเฉพาะ
  • การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ตามกฎหมายว่าด้วย การประกอบ ธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
  • การรับประกันชีวิต ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต
  • การรับจำนำ ตามกฎหมายว่าด้วยโรงรับจำนำ
  • การประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ เช่น การให้กู้ยืมเงินค้ำประกัน แลกเปลี่ยนเงินตรา ออก ซื้อ หรือขายตั๋วเงิน หรือรับส่งเงินไปต่างประเทศด้วยวิธีต่าง ๆ
  • การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ไม่ว่าอสังหาริมทรัพย์นั้นจะได้มาโดยวิธีใดก็ตาม
  • การขายหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในตลาดหลักทรัพย์
  • การประกอบกิจการอื่น ตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 358) พ.ศ.2542 เช่น ธุรกิจแฟคตอริ่ง
    โดยผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะตามแบบ ภ.ธ.01 ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันเริ่มประกอบกิจการ

ผู้ที่ได้รับยกเว้น ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะมีใครบ้าง

มีอยู่หลายธุรกิจที่หากประกอบกิจการตามที่ระบุด้านล่างนี้ จะเป็นผู้ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เช่น

  • กิจการของธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
  • กิจการของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
  • กิจการของสหกรณ์ออมทรัพย์ เฉพาะการให้กู้ยืมแก่สมาชิกหรือแก่สหกรณ์ออมทรัพย์อื่น
  • กิจการของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
  • กิจการของการเคหะแห่งชาติ เฉพาะการขายหรือให้เช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์
    และอื่นๆ อีกมากมาย สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ภาษีธุรกิจเฉพาะ ของกรมสรรพากร

เกณฑ์การคำนวณรายรับเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

เกณฑ์การคำนวณรายรับเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ให้เป็นไปตามวิธีการ หลักเกณฑ์ และการปฏิบัติทางบัญชี มีดังนี้

  • เกณฑ์เงินสด (Cash Basis) หมายถึง เกณฑ์รับรู้รายรับเมื่อได้รับชำระค่าตอบแทนหรือค่าบริการ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะได้รับชำระเป็นเงินสด หรือทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด
  • เกณฑ์สิทธิ (Accrual Basis) หมายถึง เกณฑ์รับรู้รายรับเมื่อเกิดสิทธิเรียกร้องให้ชำระค่าตอบแทนหรือค่าบริการ ไม่ว่าจะได้รับชำระค่าตอบแทนหรือค่าบริการในขณะที่เกิดสิทธิเรียกร้องหรือไม่ก็ตาม
    ทั้งนี้ มีข้อยกเว้นสำหรับรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร จะไม่ใช้เกณฑ์รับรู้ตามด้านบนที่กล่าวมา แต่จะรับรู้รายรับตามราคาขายจริงหรือราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามกฎหมายที่ดิน แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า

ฐานภาษีและอัตราภาษีสำหรับภาษีธุรกิจเฉพาะ

ฐานภาษีสำหรับผู้ที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ได้แก่ รายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ที่ผู้ประกอบกิจการได้รับ หรือพึงได้รับเนื่องจากการประกอบกิจการ ตัวอย่างของฐานภาษีและอัตราภาษีตามประเภทของธุรกิจมีดังนี้

การคำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะ

การคำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะมีดังนี้

ภาษีอากรที่ต้องชำระทั้งสิ้น = ภาษีธุรกิจเฉพาะ + ภาษีท้องถิ่น

ภาษีธุรกิจเฉพาะ             = ฐานภาษี x อัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ

ภาษีท้องถิ่น                  = ร้อยละ 10 ของภาษีธุรกิจเฉพาะ

วิธียื่นแบบภาษีธุรกิจเฉพาะ

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ต้องยื่นแบบ ภ.ธ.40 ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปไม่ว่าจะมีรายรับในเดือนนั้นหรือไม่ก็ตาม และภาษีในเดือนภาษีใด เมื่อรวมคำนวณแล้วมีจำนวนไม่ถึง 100 บาท ผู้มีหน้าที่เสียภาษีไม่ต้องเสียภาษีสำหรับเดือนภาษีนั้น แต่ยังคงมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการตามปกติ

ช่องทางการยื่นแบบภาษีธุรกิจเฉพาะ

  • ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา (เขต/อำเภอ) ในท้องที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่
  • ยื่นผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร

สรุปเกี่ยวกับภาษีธุรกิจเฉพาะ

ภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นภาษีที่เราอาจจะไม่ได้พบเจอกันบ่อยมากนัก แต่ก็เป็นอีกภาษีหนึ่งที่ถ้าธุรกิจของเราเข้าข่ายที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เราต้องมีการวางแผนและบริหารจัดการกับการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะนี้ให้ดี และหากท่านใดที่ยังกังวลว่าต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะนี้หรือไม่ ต้องเตรียมตัวอย่างไร ท่านสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับ Accounting Journey ทางเว็บไซต์, อีเมล admin@accounting-journey.co.th หรือโทร 080-9898-914 ได้ทุกวัน

ยินดีให้คำปรึกษา

ให้คำปรึกษาโดยทีม Accounting Journey ซึ่งนำทีมโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA) และมีทีมงานที่มีความรู้และประสบการณ์ทางด้านบัญชี ภาษี ตรวจสอบบัญชี กฎหมาย วิเคราะห์ข้อมูล และการวางแผนธุรกิจร่วมด้วย ซึ่งจะสามารถตอบคำถามให้คุณได้อย่างครบถ้วนถูกต้องในทุกประเด็น

Top

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า