Skip links

ทุนจดทะเบียนขั้นต่ำเท่าไหร่? เมื่อต้องการจดทะเบียนเปิดบริษัท

เมื่อเราต้องการเปิดบริษัท มีหลายสิ่งหลายอย่างมากที่เราต้องรู้และเข้าใจ และวางแผนให้เป็นระบบ เช่น การจัดหาพนักงาน การออกเอกสาร การยื่นภาษี การปิดงบการเงิน หรือการกำหนดการควบคุมภายใน เป็นต้น แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องรู้จักและเข้าใจเป็นอันดับต้นๆ คือ ทุนจดทะเบียนบริษัท ซึ่งทุนจดทะเบียนบริษัทคือสิ่งที่เราต้องวางแผนตั้งแต่เริ่มแรกว่าควรจะมีเท่าไหร่ เพื่อให้เหมาะสมกับธุรกิจของเรา วันนี้ Accounting Journey จะพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับคำว่า ทุนจดทะเบียนบริษัท ทุนที่ชำระแล้ว และคำอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ว่าสิ่งเหล่านี้คืออะไร มีความสำคัญกับบริษัทเราอย่างไร

ทุนจดทะเบียนคืออะไร?

ทุนจดทะเบียน หมายถึง จำนวนเงินทุนที่ผู้ก่อตั้งบริษัทตกลงกันว่าจะนำมาเป็นเงินทุนตั้งต้นในการเริ่มทำธุรกิจ โดยจำนวนทุนจดทะเบียนจะถูกระบุไว้ในหนังสือรับรองของบริษัท และในบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) ซึ่งจำนวนทุนจดทะเบียนจะต้องกำหนดตั้งแต่วันที่ยื่นเรื่องขอจดทะเบียนเปิดบริษัท เมื่อเปิดบริษัทแล้วเราสามารถนำเงินจำนวนนี้มาใช้จ่ายภายในบริษัทเพื่อเริ่มดำเนินธุรกิจได้

สำหรับขั้นตอนการจดทะเบียนเปิดบริษัท ท่านสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ ขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัทฉบับรวบรัด

ทุนจดทะเบียนบริษัทขั้นต่ำควรเป็นเท่าไหร่?

ทุนจดทะเบียนบริษัทขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนดคือ บริษัทจะต้องมีทุนจดทะเบียน โดยแบ่งเป็นหุ้น มูลค่าของหุ้นไม่น้อยกว่า 5 บาทต่อ 1 หุ้น และเนื่องจากการจัดตั้งบริษัทต้องมีหุ้นส่วนตั้งแต่ 2 คน ดังนั้นหากหุ้นส่วนมีหุ้นอย่างน้อยคนละ 1 หุ้น และมูลค่าหุ้นขั้นต่ำอยู่ที่หุ้นละ 5 บาท แสดงว่าทุนจดทะเบียนบริษัทขั้นต่ำของบริษัทจะเป็น 5X2=10 บาทนั่นเอง ซึ่ง 10 บาทก็สามารถจดทะเบียนเปิดบริษัทได้แล้ว แต่ในความเป็นจริงสำหรับการทำธุรกิจ การที่เรามีทุนจดทะเบียนเพียง 10 บาท จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือที่มีต่อคู่ค้าหรือบุคคลภายนอกเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นบริษัทก็มักจะจดทะเบียนเปิดบริษัทด้วยทุนจดทะเบียนที่ประมาณ 100,000 บาทเป็นต้นไปขึ้นอยู่กับลักษณะของธุรกิจนั้นๆ แต่โดยส่วนใหญ่ก็นิยมจดด้วยทุนจดทะเบียนที่ 1,000,000 บาท

ทุนที่ชำระแล้วคืออะไร?

ทุนที่ชำระแล้ว หมายถึง เงินทุนในส่วนของทุนจดทะเบียนที่ผู้ถือหุ้นได้มีการจ่ายชำระค่าหุ้นแก่บริษัทแล้ว ตามกฎหมายกำหนดให้ผู้ถือหุ้นต้องชำระค่าหุ้นเมื่อเริ่มแรกไม่น้อยกว่า 25% ยกตัวอย่างเช่น หากบริษัทจดทะเบียนเปิดบริษัทโดยกำหนดทุนจดทะเบียนที่ 2,000,000 บาท ดังนั้นผู้ถือหุ้นทุกคนต้องชำระค่าหุ้นของตนไม่น้อยกว่า 25% ซึ่งรวมเป็นเงินแล้วจะอยู่ที่ 2,000,000X25%= 500,000 บาทนั่นเอง และสำหรับค่าหุ้นที่เหลืออีก 75% ผู้ถือหุ้นสามารถทยอยจ่ายได้เมื่อบริษัทเรียกชำระค่าหุ้น

ทุนที่ชำระแล้วเอาไปทำอะไรต่อ?

ทุนที่ผู้ถือหุ้นชำระมาแล้ว หลายคนมักเข้าใจผิดว่า บริษัทจะต้องเอาเก็บไว้เฉยๆ หรือต้องนำส่งให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งนั่นเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะทุนที่ชำระแล้ว บริษัทสามารถนำเข้าบัญชีเงินฝากของบริษัท และสามารถนำมาใช้จ่ายเพื่อเริ่มดำเนินธุรกิจได้ เช่น นำมาลงทุนซื้ออุปกรณ์สำนักงาน จ่ายค่าเช่า จ่ายเงินเดือน เป็นต้น เพราะในช่วงแรกของการทำธุรกิจ เราจะยังไม่มีรายได้ในทันทีจึงจำเป็นต้องใช้เงินทุนที่เป็นทุนที่ชำระแล้วนี้ไปก่อน เพื่อให้บริษัทสามารถสร้างรายได้และเหลือเป็นกำไร และนำเงินที่ได้จากกำไรมาใช้จ่ายในบริษัทต่อไปได้นั่นเอง

ทุนจดทะเบียนสามารถเปลี่ยนแปลงภายหลังได้หรือไม่?

ทุนจดทะเบียนสามารถเปลี่ยนแปลงภายหลังได้ ด้วยการเพิ่มทุนหรือลดทุนนั่นเอง เช่น อาจจะเป็นการออกจำนวนหุ้นเพิ่มจาก 10,000 หุ้นเป็น 20,000 หุ้น หรือปรับมูลค่าหุ้นเพิ่มจากมูลค่าหุ้นละ 10 บาทเป็น 20 บาท เป็นต้น เพื่อระดมทุนให้มีเงินสำหรับใช้จ่ายในบริษัทเพิ่มในกรณีที่บริษัทเริ่มขาดสภาพคล่อง โดยทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงทุนจดทะเบียน บริษัทต้องทำเรื่องแจ้งกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าทุกครั้ง

การเพิ่มทุนให้มีทุนจดทะเบียนสูงๆดีหรือไม่?

การเพิ่มทุนจดทะเบียนส่งผลดีต่อบริษัทหลายอย่าง เช่น ในกรณีที่การดำเนินงานของบริษัทค่อนข้างมั่นคงและยั่งยืนแล้วบริษัทสามารถนำเงินที่เพิ่มทุนมาขยายธุรกิจต่อออกไปได้อีก เช่น การเปิดสาขาใหม่ การทำผลิตภัณฑ์ใหม่ เป็นต้น หรือการที่บริษัทมีทุนจดทะเบียนเป็นจำนวนมากก็สามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้กับคู่ค้า สถาบันการเงิน หรือนักลงทุนต่างๆได้

สรุปเกี่ยวกับทุนจดทะเบียนบริษัทขั้นต่ำ

ทุนจดทะเบียนบริษัทขั้นต่ำ บริษัทสามารถจดได้ตั้งแต่ 10 บาทเป็นต้นไป แต่จากที่กล่าวมาทั้งหมด บริษัทก็อาจจะต้องพิจารณาถึงปัจจัยหลายๆ อย่างเพิ่มเติมสำหรับการกำหนดทุนจดทะเบียนของบริษัท ท่านใดที่ต้องการปรึกษาเรื่องทุนจดทะเบียนเพิ่มเติม ท่านสามารถติดต่อสอบถามกับ Accounting Journey ทางเว็บไซต์, อีเมล admin@accounting-journey.co.th หรือโทร 080-9898-914 ได้ทุกวัน

ยินดีให้คำปรึกษา

ให้คำปรึกษาโดยทีม Accounting Journey ซึ่งนำทีมโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA) และมีทีมงานที่มีความรู้และประสบการณ์ทางด้านบัญชี ภาษี ตรวจสอบบัญชี กฎหมาย วิเคราะห์ข้อมูล และการวางแผนธุรกิจร่วมด้วย ซึ่งจะสามารถตอบคำถามให้คุณได้อย่างครบถ้วนถูกต้องในทุกประเด็น

Top

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า