Skip links

ผู้ประกอบการต้องรู้ ปิดงบการเงินคืออะไร บริษัทเปิดใหม่ต้องทำไหม

ปิดงบการเงินคืออะไร

เรื่องของการจัดทำงบการเงิน เป็นสิ่งที่สำคัญต่อการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ ก็จำเป็นต้องแสดงงบการเงินให้ทางนักลงทุน ภาครัฐ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับรู้ถึงความเคลื่อนไหวของกิจการ สำหรับเจ้าของธุรกิจที่มีการจดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคล จะต้องรู้จักกับขั้นตอนที่เรียกว่า “ปิดงบการเงิน” วันนี้ Accounting Journey ขออาสาช่วยไขข้อสงสัยเกี่ยวกับการปิดงบการเงินว่า คืออะไร มีขั้นตอนการปิดอย่างไร ปิดเดือนไหน ปิดแล้วต้องตรวจสอบด้วยไหม ไปหาคำตอบพร้อม ๆ กันเลย

ปิดงบการเงินคืออะไร

ปิดงบการเงิน คือ การจัดทำรายงานทางการเงินของบริษัทที่จดทะเบียนในรูปแบบนิติบุคคล เพื่อแสดงผลการดำเนินงาน และฐานะทางการเงินของกิจการ โดยจะจะต้องผ่านขั้นตอนของการสรุปรายรับ รายจ่าย กำไร การบันทึกรายการ ปิดบัญชีภาษีซื้อภาษีขาย และสรุปสินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของเจ้าของภายในกิจการให้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) และกรมสรรพากรได้ทราบ มีขั้นตอนการสรุปรายละเอียดที่มีความซับซ้อน ซึ่งรายงานของการปิดงบการเงินจะต้องมีองค์ประกอบดังนี้

องค์ประกอบของงบการเงินที่ต้องมีในรายงาน

  1. งบฐานะการเงิน (Statement of Financial Position)
  2. งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ หรือ งบกำไรขาดทุน (Profit and Loss Statement) 
  3. งบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้น (Statement of Changes Equity) 
  4. หมายเหตุประกอบงบการเงิน (Notes to Financial Statement)
  5. งบกระแสเงินสด (Cash Flow Statement)*

  *สำหรับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต้องจัดทำงบกระแสเงินสดนี้เพิ่ม

ปิดงบการเงินมีกี่ประเภท

การปิดงบการเงินนั้นสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก คือ การปิดงบการเงินรายเดือน/รายไตรมาส และการปิดงบการเงินรายปี โดยทั้งคู่มีรายละเอียดดังนี้

ปิดงบการเงินรายเดือน หรือปิดบัญชีรายเดือน

ปิดงบการเงินรายเดือน หรือปิดบัญชีรายเดือน คือ การปิดงบที่บริษัทส่วนใหญ่จะทำรายงานเมื่อครบ 1 เดือน, ทุกๆ 3 เดือน(เป็นรายไตรมาส) หรือทุกๆ 6 เดือน ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้บริหารแต่ละบริษัท แต่สำหรับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต้องปิดงบการเงินเป็นรายไตรมาสเพื่อนำส่งงบการเงินให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน แม้การปิดงบการเงินรายเดือนนั้นจะยังไม่ใช่ตัวเลขที่สมบูรณ์ แต่ก็เป็นผลดีต่อผู้บริหารธุรกิจ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจที่เกี่ยวกับการพัฒนาธุรกิจได้ในอนาคต

ปิดงบการเงินรายปี หรือปิดบัญชีรายปี

ปิดงบการเงินรายปี หรือปิดบัญชีรายปี คือ การปิดงบการเงินตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจะต้องทำเป็นประจำทุกปี ปีละ 1 ครั้งเพื่อส่งให้แก่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) และกรมสรรพากร

ปิดงบการเงินเดือนไหน

การปิดงบการเงินจะต้องทำการสรุปและปิดบัญชีตามรอบระยะเวลาบัญชีที่บริษัทได้กำหนดไว้ เช่น สิ้นปีบัญชีคือ 31 มีนาคม หรือ 30 มิถุนายน หรือ 31 ธันวาคม 25xx เป็นต้น ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่มักจะกำหนดรอบปีบัญชีเป็น 1 มกราคมถึง 31 ธันวาคม 25xx เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ

เมื่อสรุปปิดงบการเงินประจำปีเรียบร้อยแล้ว จะต้องนำไปเป็นวาระการประชุมเพื่อขออนุมัติงบการเงินจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี ภายใน 4 เดือน นับจากวันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี เมื่อผ่านการอนุมัติเรียบร้อยกิจการจะต้องนำส่งงบการเงินให้แก่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมสรรพากรในลำดับต่อไป

ขั้นตอนการปิดงบบัญชี

ขั้นตอนการปิดบัญชี

  1. จัดเก็บเอกสารที่เกี่ยวข้อง แยกหมวดหมู่ให้ชัดเจน เช่น ใบเสร็จรับเงิน เอกสารซื้อขาย เอกสารการเช่า เงินเดือนพนักงาน ค่าสาธารณูปโภค เป็นต้น พร้อมเรียงตามวันที่ออกเอกสาร จะทำให้ง่ายต่อการบันทึกบัญชี
  2. บันทึกบัญชี ทำการบันทึกบัญชีรายการที่เกิดขึ้นตามเอกสารประกอบการบันทึกบัญชีให้ครบถ้วนทั้งปี เช่น รายการขายสินค้าในแต่ละวัน หรือรายการจ่ายชำระค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน พร้อมทั้งตรวจสอบความถูกต้องของการบันทึกบัญชี
  3. กระทบยอดบัญชีเงินฝากธนาคาร ต้องกระทบยอดบัญชีเงินฝากธนาคารทุกบัญชีให้ถูกต้องตามยอดเงินคงเหลือใน Bank Statement รวมทั้งหากมีเงินสดย่อยหรือเงินสดในมือ ทำการตรวจนับ และบันทึกบัญชีเพื่อเคลียร์ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้ครบถ้วน
  4. ปรับปรุงรายการทางบัญชี สำหรับรายการที่ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นประจำต้องทำการตรวจสอบและปรับปรุงรายการที่จำเป็นต้องปรับปรุงให้ครบถ้วนถูกต้อง เช่น ปรับปรุงต้นทุนขายหรือสินค้าคงเหลือในกรณีที่ใช้วิธีบันทึกบัญชีสินค้าคงเหลือแบบ Periodic หรือการบันทึกรายได้ค้างรับ การบันทึกค่าใช้จ่ายค้างจ่าย เป็นต้น
  5. วิเคราะห์ข้อมูล เมื่อบันทึกบัญชีและปรับปรุงรายการที่จำเป็นทุกรายการครบถ้วนแล้ว ให้นำข้อมูลที่ได้มาทำการวิเคราะห์ เพื่อหารายการที่ผิดปกติอีกครั้ง อาจจะเป็นการวิเคราะห์รายการเคลื่อนไหวเป็นรายเดือน หรือการวิเคราะห์กับจำนวนเงินของปีก่อน เป็นต้น
  6. จัดทำงบทดลอง เมื่อทำตามขั้นตอนที่ 1-5 เรียบร้อยแล้ว ให้จัดทำงบทดลองเพื่อมาตรวจสอบยอดคงเหลือของแต่ละบัญชีอีกครั้ง ซึ่งงบทดลองโดยปกติสามารถเรียกเป็นรายงานได้อัตโนมัติจากโปรแกรมบัญชีที่ใช้งานอยู่ และงบทดลองนี้จะเป็นข้อมูลที่เราจะนำไปจัดทำงบการเงินประเภทต่างๆต่อไป
  7. การจัดทำงบการเงิน โดยปกติงบฐานะการเงินและงบกำไรขาดทุนสามารถเรียกเป็นรายงานจากโปรแกรมบัญชีที่ใช้อยู่ได้เช่นกัน แต่หากโปรแกรมบัญชีใดไม่สามารถทำได้ เราสามารถใช้งบทดลองมาจัดทำในลำดับถัดไปได้
  8. การตรวจสอบงบการเงิน เมื่อเราปิดบัญชีและจัดทำงบการเงินเรียบร้อยแล้ว เราต้องส่งงบการเงินและรายละเอียดที่เกี่ยวข้องต่างๆ ให้ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตได้ตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนต่อไป

ไม่ปิดงบการเงินโดนปรับเท่าไหร่ มีโทษอะไรบ้าง

สำหรับกรณีปิดงบการเงินส่งงบการเงินล่าช้า หรือจงใจไม่ส่งงบการเงิน ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย พร้อมถูกดำเนินคดีจาก 2 หน่วยงานดังนี้

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD)

  • กรณียื่นงบการเงินล่าช้าไม่เกิน 2 เดือน ผู้ที่มีหน้าที่จัดทำบัญชี และผู้รับผิดชอบในการดำเนินงาน (กรรมการผู้จัดการ และห้างหุ้นส่วนจำกัด) จะได้รับโทษตั้งแต่ 2,000 – 4,000 บาท ขึ้นอยู่กับประเภทบริษัท
  • กรณียื่นงบการเงินล่าช้าเกิน 2 เดือน แต่ไม่เกิน 4 เดือน ผู้ที่มีหน้าที่จัดทำบัญชี และผู้รับผิดชอบในการดำเนินงาน (กรรมการผู้จัดการ และห้างหุ้นส่วนจำกัด) จะได้รับโทษตั้งแต่ 8,000 – 48,000 บาท ขึ้นอยู่กับประเภทบริษัท
  • กรณียื่นงบการเงินล่าช้าเกิน 4 เดือน หรือไม่ยื่นเลย ผู้ที่มีหน้าที่จัดทำบัญชี และผู้รับผิดชอบในการดำเนินงาน (กรรมการผู้จัดการ และห้างหุ้นส่วนจำกัด) จะได้รับโทษตั้งแต่ 12,000 – 72,000 บาท ขึ้นอยู่กับประเภทบริษัท

กรมสรรพากร

สำหรับโทษจากกรมสรรพากรนั้นจะเป็นการรวมกันระหว่างการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 50 และงบการเงิน ซึ่ง 2 อย่างจะต้องยื่นคู่กัน กรณียื่นแบบ ภ.ง.ด. 50 เกินระยะเวลาที่กำหนด เจ้าของธุรกิจหรือกิจการจะต้องโดยค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท หากมีภาษีที่ต้องชำระเพิ่มจะต้องเสียเงินเพิ่มอีก 1.5% ต่อเดือน (เศษของเดือนนับเป็น 1 เดือน) โดยนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดเวลายื่นจนถึงวันที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 50 และต้องโดนปรับฐานยื่นงบการเงินช้าอีก 2,000 บาท

ประโยชน์ของการปิดงบการเงิน

  1. ช่วยให้เจ้าของธุรกิจรู้ผลกำไรที่แท้จริง ทั้งรายได้และค่าใช้จ่ายของกิจการ เพื่อนำไปใช้วางแผนธุรกิจในปีถัดไป
  2. ง่ายต่อการวิเคราะห์ด้านต่าง ๆ เช่น วิเคราะห์ยอดขาย วิเคราะห์รายการสินค้าคงเหลือ และยอดลูกหนี้การค้า รวมทั้งการวิเคราะห์เปรียบเทียบกับตัวเลขของงบการเงินปีก่อนได้
  3. ช่วยบริหารสภาพคล่องทางการเงินได้ง่าย โดยประเมินหรือวิเคราะห์จากตัวเลขสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง
สรุปเกี่ยวกับการปิดงบการเงิน

สรุปเกี่ยวกับการปิดงบการเงิน

การปิดงบการเงิน ถือเป็นเรื่องสำคัญที่เจ้าของธุรกิจมองข้ามไม่ได้ เพราะนอกจากจะช่วยวิเคราะห์ผลประกอบการทางธุรกิจได้แล้ว ยังมีผลต่อกฎหมายอีกด้วย เพราะบริษัททุกประเภทต้องมีการแสดงงบการเงิน พร้อมชำระภาษีให้แก่ภาครัฐ สำหรับผู้ประกอบการรายใดที่ต้องการคำแนะนำเรื่องงบการเงิน หรือมองหาบริการจากบริษัทรับทำบัญชี Accounting Journey ยินดีให้บริการ สามารถติดต่อได้ผ่านทางเว็บไซต์ หรือโทร 080-9898-914

ยินดีให้คำปรึกษา

ให้คำปรึกษาโดยทีม Accounting Journey ซึ่งนำทีมโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA) และมีทีมงานที่มีความรู้และประสบการณ์ทางด้านบัญชี ภาษี ตรวจสอบบัญชี กฎหมาย วิเคราะห์ข้อมูล และการวางแผนธุรกิจร่วมด้วย ซึ่งจะสามารถตอบคำถามให้คุณได้อย่างครบถ้วนถูกต้องในทุกประเด็น

Top

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า